#1 tech recruiter in thailand

วิธีเตรียมพร้อมรับมือกับ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ สำหรับคนไอที

Natural Disasters For It People

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ความแปรปรวนของสภาพอากาศ และปัจจัยอื่น ๆ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีแนวโน้ม ทวีความรุนแรง เกิดบ่อยครั้งมากขึ้น และยากต่อการคาดการณ์ ดังนั้น เราทุกคนควรมีความรู้ในการป้องกันและรับมือ ซึ่งสำหรับคนไอทีก็มีเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมมากกว่าคนทั่วไป บทความนี้ได้รวบรวมการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ด้วยกลยุทธ์เชิงปฏิบัติและโซลูชันการสำรองข้อมูล สำหรับคนไอทีโดยเฉพาะ กับ วิธีเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ สำหรับคนไอที

ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural Disaster) คือ ภัยอันตรายที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งไม่อาจควบคุมได้ อาทิ อุทกภัย (น้ำท่วม), อัคคีภัย (ไฟไหม้), วาตภัย (พายุ) และ ธรณีพิบัติภัย (แผ่นดินไหว,สึนามิ) ซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติ เป็นปรากฎการณ์ที่สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน ตลอดจนวิถีชีวิต ความเป็นอยู่

ชีวิตปลอดภัย รู้ทันสัญญาณภัยพิบัติ

อุทกภัย (น้ำท่วม): ฝนตกหนักและระดับน้ำสูงขึ้น

ดินถล่ม: ฝนตกหนัก 100 มม. ต่อเนื่อง 6 ชั่วโมง / น้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นและมีสีขุ่น

สึนามิ: น้ำทะเลลดระดับอย่างรวดเร็ว หลังจากเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง

พายุฤดูร้อน: อากาศร้อนอบอ้าว ลมสงบนิ่งและเมฆก่อตัวอย่างรวดเร็ว

แผ่นดินไหว: รู้สึกว่าพื้นหรือผนังสั่นไหวผิดปกติ

อัคคีภัย (ไฟไหม้): มีกลิ่นไหม้หรือเห็นควันผิดปกติ

6 วิธี เรียนรู้-รบมือ ภัยพิบัติ

1. เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ: สังเกตความผิดปกติ และศึกษาข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดภัยพิบัติแต่ละประเภท
2. ตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายในและนอกบ้าน: ไม่วางของกีดขวางทางเดิน / โค่นต้นไม้ที่เสี่ยงต่อการล้มทับ / ติดตั้งถังดับเพลิงในจุดที่หยิบใช้สะดวก
3. ติดตามข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันภัย: สภาพอากาศ ประกาศเตือนภัย เพื่อเตรียมพร้อมได้ทันท่วงที
4. เตรียมสิ่งของไว้ใช้ยามเกิดภัย: อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค ไฟฉาย เป็นต้น
5. ศึกษาการอพยพหนีไฟอย่างถูกวิธี: จดจำเส้นทางหนีภัย / เข้าร่วมฝึกซ้อมอพยพหนีภัยอยู่เสมอ
6. จดจำหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานสำคัญ: สายด่วนนิรภัย 1784

มาดู วิธีเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ สำหรับคนไอที กันเถอะ โดยมีหัวข้อดังนี้

  • อุทกภัย (น้ำท่วม)
  • อัคคีภัย (ไฟไหม้)
  • วาตภัย (พายุ)
  • ธรณีพิบัติภัย (แผ่นดินไหว,สึนามิ)
  • วิธีจัดการความเครียด หลังเกิดภัยพิบัติ
  • หมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉิน

 

อุทกภัย (น้ำท่วม)

วิธีรับมืออุทกภัย

  • ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัย พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
  • จัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ ที่จำเป็นไว้ใช้เมื่อเกิดภัย
  • จัดเตรียมน้ำสะอาด อาหารสำเร็จรูป หรือยาที่จำเป็น เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาใส่แผล ผงเกลือแร่ ยารักษาโรคประจำตัว ให้เพียงพอต่อการยังชีพได้อย่างน้อย 3 – 5 วัน
  • หากมีสัตว์เลี้ยง ควรเตรียมแผนอพยพสัตว์เลี้ยงให้อยู่ในที่ปลอดภัย พร้อมอาหารที่จำเป็น
  • เตรียมความพร้อมด้านระบบไฟฟ้าภายในบ้าน หรือระบบไฟสำรองรวมทั้งถุงบรรจุทราย เพื่อป้องกันน้ำท่วมหากจำเป็น
  • จัดเตรียมอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น ไฟฉาย แบตเตอรี่สำรอง โทรศัพท์มือถือ กรณีการติดต่อขอรับความช่วยเหลือฉุกเฉิน

 

รู้หรือไม่? ในปี 2554 ตลาดโลกประสบกับปัญหาการขาดแคลน HDD และ คอมพิวเตอร์

เนื่องจาก ไทยเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลกและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของ HDD

ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากวิกฤติน้ำท่วม

 

วิธีปฏิบัติตนให้ปลอดภัย

  • ขนย้ายสิ่งของ เครื่องใช้ขึ้นที่สูง
  • ตัดกระแสไฟฟ้าและงดใช้เครื่องใช้ ไฟฟ้าเมื่อน้ำท่วมบ้าน
  • ระมัดระวังภัยในช่วงน้ำท่วม อาทิ จมน้ำ สัตว์มีพิษ ไฟฟ้าดูด
  • หากสถานการณ์รุนแรงให้อพยพ ไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย

วิธีรับมือ น้ำท่วม สำหรับคนไอที

  • สร้างห้อง Server และศูนย์ข้อมูลเหนือระดับพื้นดิน (อย่าสร้างในห้องใต้ดิน)
  • ติดตั้งระบบกันซึมและปั๊มน้ำ
  • สำรองข้อมูลนอกสถานที่และบน Cloud เป็นประจำ
  • ปกป้อง Hardware สำคัญในกล่องกันน้ำ หากอาจเกิดน้ำท่วมในอนาคต

 

อัคคีภัย (ไฟไหม้)

การเตรียมพร้อมรับมือเพลิงไหม้ อาคารสูง

  • ตรวจสอบ ตรวจสอบสัญญาณเตือนไฟไหม้และอุกกรณ์ระงับเหตุเพลิงไหม้ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
  • จดจำ เส้นทางไปสู่ประตูทางออกฉุกเฉินและบันไดหนีไฟที่อยู่ใกล้ที่สุด อย่างน้อย 2 เส้นทาง
  • เรียนรู้ วิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดเพลิงไหม้ อาทิ การแจ้งเหตุฉุกเฉิน การส่ง สัญญาณเตือน การใช้ถังดับเพลิง รวมถึงเข้าร่วมการอพยพหนีไฟ
  • เตรียมพร้อม จัดเตรียมสิ่งของและเครื่องใช้ที่จำเป็น อาทิ กุญแจห้อง โทรศัพท์มือถือ ไฟฉาย นกหวีดไว้ในจุดที่หยิบใช้งานสะดวก หากเกิดเพลิงไหม้จะได้นำมาใช้งานทันที

การปฏิบัติตน เมื่อเกิดเพลิงไหม้

  • ตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก ประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้น
  • เพลิงไหม้เล็กน้อย ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเพลิงในเบื้องต้น พร้อมโทรแจ้งเจ้าหน้าที่มาควบคุมเพลิง
  • เพลิงไหม้รุนแรง ตะโกนบอกหรือกดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เพื่อแจ้งให้ผู้อื่นทราบ พร้อมอพยพออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้ จากนั้นโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ มาควบคุมเพลิง

ข้อควรระวัง ก่อนออกจากห้องให้ใช้มือสัมผัสผนังหรือลูกบิดประตู

  • หากไม่ร้อน ให้เปิดประตูออกไปช้า ๆ และอพยพไปตามเส้นทาง หนีไฟที่ปลอดภัย
  • หากมีความร้อนสูง ห้ามเปิดประตูออกไป เพราะอยู่ในวงล้อม ของเพลิงไหม้ ให้ใช้ผ้าหนา ๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันไฟสามารถลอยเข้ามาได้ ให้ปิดพัดลมระบายอากาศและเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟ จากนั้นโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ เพื่อบอกตำแหน่งที่ติดอยู่ และส่งสัญญาณให้ผู้อื่นทราบ จะได้ รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

การอพยพ ออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้

  • หลีกเลี่ยงการสูดดมควันไฟเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ โดยใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกและปาก หรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์แล้วนำมาครอบศีรษะ
  • อพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย โดยหนีไฟไปในทิศทางเดียวกับควันไฟและความร้อน พร้อมหมอบคลานต่ำหรือย่อตัวให้ใกล้กับระดับพื้นมากที่สุด
  • ใช้บันไดหนีไฟ ในการอพยพออกจากอาคาร เนื่องจากมีช่องระบายอากาศ จึงช่วยลดการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงการใช้บันไดภายในอาคารเป็นเส้นทางอพยพหนีไฟ เพราะบันไดมีลักษณะเป็นปล่อง ทำให้ควันไฟและเปลวเพลิงลอยตัวขึ้นมาปกคลุม
  • ห้ามใช้ลิฟต์ ในการอพยพหนีไฟ เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ติดค้างภายในลิฟต์ ขาดอากาศหายใจเสียชีวิต

 ข้อควรรู้ในการอพยพหนีไฟ

  • ไม่เข้าไปอยู่ในบริเวณจุดอับของอาคาร เช่น ห้องใต้ดิน เพราะยากต่อการช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่
  • ไม่เข้าไปอยู่ในห้องน้ำ เพราะปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการดับไฟ ทำให้ถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้
  • ไม่ขึ้นไปชั้นบนหรือดาดฟ้า เพราะไฟลุกลามจากชั้นล่างสู่ชั้นบน ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ยกเว้นกรณีไม่สามารถอพยพหนีไฟลงสู่ชั้นล่างได้

กรณีไฟลุกลามติดเสื้อผ้า

Natural Disasters

หยุด หมอบ กลิ้งตัว (จำให้ขึ้นใจ)

ให้รีบถอดเสื้อผ้าหรือใช้วิธีนอนราบกับพื้น กลิ้งตัวไปมาให้ไฟดับ (ห้ามวิ่งเด็ดขาด) เพราะไฟจะลุกลามรวดเร็วขึ้น

 

 รู้หรือไม่? ภายใน 1 นาที ควันไฟจะลอยสูงเท่าตึก 60 ชั้น

ทำให้การสำลักควันไฟเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ มากกว่าการถูกไฟคลอก

 

วิธีรับมือ ไฟไหม้ สำหรับคนไอที

ติดตั้งระบบกรอง HVAC ขั้นสูง สำหรับกรองควัน

ตั้งค่าระบบสำรองข้อมูลอัตโนมัติและเครื่องมือการเข้าถึงระยะไกล (สำหรับการจัดการและปกป้องข้อมูลจากที่ไหนก็ได้)

จัดทำแผนการอพยพและย้ายสถานที่ สำหรับพนักงานหลัก

* HVAC คือ Heating Ventilation and Air Conditioning ระบบนี้มีไว้เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมภายใน (อุณหภูมิ, ความชื้น, การไหลเวียนของอากาศ และ ระบบการกรองของอากาศ)


 

วาตภัย (พายุ)

วิธีเตรียมตัวก่อนเกิดพายุ

  • วางแผนล่วงหน้าให้รอบคอบ ติดตามฟังพยากรณ์อากาศ หากวันไหนที่คาดว่าจะมีพายุฝน ควรหลีกเลี่ยงไปยังสถานที่เสี่ยงอันตราย
  • หากต้องเดินทางออกนอกบ้านให้สังเกตสภาพฟ้าอากาศ เช่น ฝนตก ฟ้ามืด หรือลมแรงผิดปกติ เพราะเป็นสัญญาณที่แสดงว่าพายุฝนกำลังจะเคลื่อนเข้ามา หรือคำนวณจากเสียง หากเห็นแสงฟ้าผ่าและเสียงฟ้าร้องตามมาอีก 30 วินาทีให้หลัง ควรรีบหาที่หลบทันที
  • จัดเตรียมสิ่งของจำเป็น เอาไว้ในยามฉุกเฉินให้พร้อม เช่น น้ำดื่ม ยารักษาโรค ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น อาหารแห้ง ถ่านไฟฉาย รวมถึงไฟฉายไว้ใช้ช่วงไฟฟ้าดับ หากมีเครื่องสำรองไฟ ควรศึกษาวิธีใช้เตรียมไว้ด้วย
  • เติมน้ำประปาสำรอง ใส่ถังน้ำหรืออ่างอาบน้ำ สำหรับใช้ในห้องน้ำและทำอาหาร เผื่อเอาไว้ในกรณีที่ไฟฟ้าดับ
  • ชาร์จแบตเตอร์รี่ มือถือให้เต็มและเตรียมเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินเอาไว้ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรือมีคนได้รับอันตรายจากฟ้าผ่า
  • ตรวจสอบจุดต่าง ๆ ของบ้าน ให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง เก็บสิ่งของบริเวณบ้านที่อาจถูกลมพัดปลิวให้มิดชิด เพื่อป้องกันข้าวของถูกลมพายุพัดเสียหายหรือได้รับอันตรายจากการโดนสิ่งของกระแทกปลิว
  • สำรวจสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ใกล้บริเวณบ้าน ให้อยู่ในสภาพปลอดภัย โดยตัดแต่งกิ่งไม้ที่อยู่ใกล้กับตัวบ้าน ใช้ไม้ค้ำยันสำหรับต้นไม้ใหญ่หรือต้นไม้ที่เพิ่งปลูกใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มหรือเกี่ยวสายไฟขณะลมพัดแรง
  • สำหรับบ้านที่มีสัตว์เลี้ยง ควรขอแนะนำจากสัตวแพทย์ในการดูแลสัตว์เลี้ยง เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

วิธีป้องกันตัวขณะอยู่บ้าน ระหว่างเกิดพายุ

  • ไม่สวมใส่เครื่องประดับที่ทำจากโลหะ เช่น เงิน ทองคำ ทองแดง เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง เพราะโลหะเป็นสื่อนำไฟฟ้า ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
  • นำสัตว์เลี้ยงเข้าบ้านทันที เพราะบ้านของสัตว์เลี้ยงไม่สามารถป้องกันฟ้าผ่าได้ พร้อมกับถอดปลอกคอของสัตว์เลี้ยงออก เพราะปลอกคอสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ก็เป็นสื่อล่อฟ้า
  • ปิดประตูกับหน้าต่างทุกบานให้สนิท และพยายามอยู่ห่างหน้าต่างรวมถึงบริเวณที่อาจจะมีวัตถุตกหล่นจากที่สูง
  • ปิดแก๊ส งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและโทรศัพท์มือถือในระหว่างที่มีพายุฝน เพราะกระแสไฟอาจวิ่งเข้าสู่ร่างกาย
  • ไม่ควรยืนพิงหรือสัมผัสผนังคอนกรีต เนื่องจากผนังคอนกรีตส่วนใหญ่มีโครงสร้างภายในที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า
  • หลังลมพายุสงบลงแล้ว ยังไม่ควรออกไปที่โล่งแจ้ง ควรอยู่ภายในบ้านหรืออาคารอย่างน้อย 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุฟ้าผ่าที่มากับพายุฝน พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงบริเวณที่สายไฟฟ้าขาด มีต้นไม้หรือเสาไฟฟ้าล้ม

วิธีป้องกันตัว เมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง

  • หากอยู่ในที่โล่งแจ้งควรหลบในอาคารทันที โดยหลีกเลี่ยงการหลบฟ้าฝนใต้ต้นไม้ ใกล้เสาไฟฟ้า ป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ อาคารขนาดเล็ก เช่น ห้องน้ำสาธารณะ หรืออาคารที่มีแค่กันสาดกันฝน เนื่องจากโครงสร้างประเภทนี้ไม่สามารถป้องกันฟ้าผ่าได้
  • หากมีฟ้าผ่าลงมาบริเวณใกล้เคียง ให้นั่งกอดเข่า เท้าชิด ก้มหน้าซุกระหว่างเข่า มือปิดหูหรือจับเข่าไว้ แม้ท่านี้จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุไม่ได้ 100% แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงของอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะภายในเมื่อโดนฟ้าผ่าได้
  • หลีกเลี่ยงจากแหล่งน้ำ เช่น สระว่ายน้ำหรือบ่อน้ำ หากอยู่ในน้ำขณะมีพายุฝนให้รีบขึ้นจากน้ำทันที ไม่เช่นนั้นอาจได้รับอันตรายในขณะที่มีพายุฝน
  • เมื่อต้องหลบฝนร่วมกับผู้อื่น ควรรักษาระยะห่างแต่ละคนไว้ประมาณ 2 – 30.5 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้กระแสไฟวิ่งเข้าสู่ร่างกายคนรอบข้างเมื่อมีคนโดนผ่าฟ้า

วิธีปฏิบัติ หลังพายุสงบ

  • ตรวจสอบอาการบาดเจ็บของตัวเองและคนรอบข้าง หากมีผู้ได้รับอันตรายถึงชีวิตให้โทรศัพท์ขอความช่วยเหลือทันที
  • หากตัวบ้านหรืออาคารที่ใช้หลบภัยได้รับความเสียหาย ให้อพยพออกจากสถานที่ดังกล่าว พร้อมกับแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาตรวจสอบ โดยในระหว่างนี้ไม่ควรกลับเข้าไปยังอาคารดังกล่าว จนกว่าทางการจะประกาศรับรองความปลอดภัย

วิธีรับมือ พายุ สำหรับคนไอที

  • การสำรองข้อมูลสำคัญของระบบ บน Cloud หรือที่เก็บข้อมูลระยะไกลทุกวัน
  • ตรวจสอบให้แน่ใจว่าแหล่งพลังงานสำรองทำงานได้ ก่อนที่พายุจะมาถึง
  • ยกอุปกรณ์ให้สูงขึ้นและทำให้พื้นที่สำคัญ สามารถป้องกันน้ำได้
  • ตั้งค่า VPN และการเข้าถึง Cloud สำหรับให้พนักงานทำงานแบบ Remote ได้
  • จัดทำแผนการกู้คืน เฉพาะสำหรับพายุ

 

ธรณีพิบัติภัย (แผ่นดินไหว)

เตรียมพร้อมรับมือ ก่อนเกิดแผ่นดินไหว

  • ตรวจสอบ อาคาร บ้านเรือนให้มั่นคงแข็งแรง
  • ยึดเฟอร์นิเจอร์ที่ล้มได้กับพื้นและผนังอย่างแน่นหนา
  • ติดตามข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันภัย
  • ไม่วางสิ่งของบนสูง ป้องกันของตกทำให้ได้รับอันตราย

วิธีรับมือเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

  • อย่าตื่นตกใจ มีสติ

  • อยู่ในบ้าน:ให้มอบอยู่ในส่วนที่มีโครงสร้างแข็งแรง ให้อยู่ห่างจากประตู ระเบียง และหน้าต่าง

  • อยู่ในอาคารสูง:ควรตั้งสติให้มั่น หลังจากแผ่นดินไหวหยุดแล้วให้รีบออกจากอาคารโดยเร็ว

  • อยู่ในที่โล่งแจ้ง:ให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้า และสิ่งห้อยแขวนต่าง ๆ

  • อยู่ชายหาด:ให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นขนาดใหญ่ซัดเข้าหาฝั่ง
  • ห้ามใช้ลิฟท์โดยเด็ดขาด ขณะเกิดแผ่นดินไหว
  • กำลังขับรถ:ให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ จนกระทั่งการสั่นสะเทือนจะหยุด
    อย่าใช้ เทียน ไม้ขีดไฟ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วอยู่บริเวณนั้น

หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว

รีบปิดวาล์วถังก๊าซ ท่อแก๊ส ตัดกระแส ไฟฟ้าโดยปิดสวิตซ์ไฟ หรือสับคัทเอาท์ ตลอดจน ห้ามก่อประกายไฟในบริเวณดังกล่าว เช่น จุดไม้ขีดไฟ สูบบุหรี่ เป็นต้น เพราะอาจมีแก๊สรั่วไหลในพื้นที่ ใกล้เคียง ทำให้เกิดการระเบิดหรือเพลิงไหม้ได้

วิธีรับมือ แผ่นดินไหว สำหรับคนไอที

  • ใช้ชั้นวางแบบป้องกันแผ่นดินไหว และขาตั้ง Server ที่ทนทานต่อแผ่นดินไหว
  • จัดเก็บ Server ที่สำคัญในศูนย์ข้อมูลที่ทนทานต่อแผ่นดินไหว
  • สำรองข้อมูลนอกสถานที่โดยอัตโนมัติ ควรใช้ที่เก็บข้อมูลบน Cloud แบบ Multi-region
  • สร้าง Protocol สำหรับ Emergency Shutdown เพื่อป้องกันการเสียหายของข้อมูล

 

ธรณีพิบัติภัย (สึนามิ)

วิธีเอาตัวรอด จากคลื่นยักษ์สึนามิอย่างปลอดภัย

  • หากรู้สึกถึงแผ่นดินไหว ให้ตั้งสติไม่ตื่นตระหนก
  • ฟังประกาศ จากหน่วยงานภาครัฐและสังเกตสัญญาณเตือนภัยจากธรรมชาติ
  • หากมีประกาศ ให้อพยพให้รีบหนีขึ้นที่สูง
  • หากอยู่บนเรือ ที่ห่างจากฝั่ง ให้รีบนำเรือออกสู่กลางทะเล
  • คอยอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

วิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดสึนามิ

หากอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล หากมีประกาศแจ้งเตือน หรือรับรู้ถึงการเกิดแผ่นดินไหว และสังเกตเห็นน้ำทะเลลดระดับลง อย่างรวดเร็ว

ให้รีบหนีขึ้นที่สูง (สูงกว่าระดับน้ำทะเลมากกว่า 15 เมตร)

เข้าไปอยู่ในอาคารสูงที่มั่นคงแข็งแรง โดยอยู่ให้ห่างจากชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำ หรือลำน้ำที่ติดกับทะเลมากที่สุด เพราะสึนามิ อาจซัดเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เกิดอันตรายได้

  • กรณีได้รับคำเตือนภัยสึนามิ ให้รีบหนี ออกจากพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล ไปตามเส้นทาง ที่ปลอดภัย และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ อย่างเคร่งครัด
  • กรณีอยูในเรือ ให้รีบนำเรือออกไปกลางทะเล บริเวณน้ำลึกนอกชายฝั่ง เพราะคลื่นที่อยู่ห่างชายฝั่งมีขนาดเล็ก พร้อมติดตามรับฟังสถานการณ์เป็นระยะ รวมถึงแจ้งจุดที่เรือลอย จะได้สามารถขอความช่วยเหลือได้
  • หลังเกิดสึนามิ ให้รออยู่ในบริเวณที่ปลอดภัยสักระยะ และอยู่ให้ห่างจากชายฝั่งทะเล ห้ามลงไปบริเวณชายหาดในทันที เพราะสึนามิประกอบด้วยคลื่นหลายระลอกและสามารถซัดเข้าสู่ชายฝั่งได้ตลอดเวลา ให้รอจนมีประกาศยกเลิกการแจ้งเตือนภัยหรือยุติสถานการณ์

วิธีรับมือ สึนามิ สำหรับคนไอที

  • รักษาระบบที่สำคัญให้อยู่บนพื้นที่สูง
  • ควรใช้ที่เก็บข้อมูลบน Cloud แบบ Multi-region
  • ทดสอบศูนย์สำรองระบบระยะไกลเป็นประจำ (ซึ่งสามารถสลับการทำงานได้ทันทีหรือภายในเวลาที่กำหนด)
  • มีแผนการสื่อสารตอบสนองอย่างรวดเร็ว สำหรับลูกค้าและพนักงาน

 

วิธีจัดการความเครียด หลังเกิดภัยพิบัติ

  • หายใจเข้าออกช้า ๆ 2 – 3 นาที เพื่อทำให้ออกซิเจนเข้าสู่สมอง แล้วความเครียดจะลดลง
  • แปลงความกังวลเป็นการลงมือทำ รวมพลังครอบครัวและชุมชนรับกับสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยทำให้เกิดการตัดสินใจที่ดีขึ้น หากต้องติดตามข้อมูลข่าวสารให้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน
  • การยืดเหยียดในท่าที่ผ่อนคลายจะช่วยให้การนอนหลับได้ดีขึ้น
  • ไม่ด่า ไม่ว่า ไม่ทับถม อย่าให้ความหวังดีเป็นความขัดแย้งและทำร้ายกัน
  • ใส่ใจคนรอบข้าง ทำให้เราทุกข์น้อยลง
  • ความเครียด ทำให้เรารับฟังกันน้อยลงจึงต้องดูแลตัวเองด้วย
  • ความกังวลใจจะลดลงได้ หากได้ช่วยเหลือผู้อื่น
  • อย่าลืมเวลาเล่น เล่านิทานกับลูก เพราะว่าเด็กก็เครียดเป็น
  • แบ่งเวลาทำสมาธิ สวดมนต์ไหว้พระ สร้างความสงบให้จิตใจ

 

หมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉิน

191 – แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย

199 – แจ้งเหตุไฟไหม้ (ดับเพลิง)

1129 – การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

1130 – การไฟฟ้านครหลวง

1554 – หน่วยแพทย์กู้ชีวิต วชิรพยาบาล

1669 – สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ทั่วประเทศ)

1646 – หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน (กทม.)

1691 – โรงพยาบาลตำรวจ

1784 – กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

1667 – สายด่วนกรมสุขภาพจิต

และทั้งหมดนี้ก็คือ วิธีเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ สำหรับคนไอที

 เมื่อ หางาน IT ให้ ISM Technology Recruitment เป็นอีกหนึ่งตัวช่วย เพื่อให้คุณได้ “ชีวิตการทำงานในแบบที่คุณต้องการ” เพียงส่ง Resume มาที่นี่

ISM เชี่ยวชาญในธุรกิจ IT Recruitment & IT Outsourcing โดยเฉพาะ ได้เปิดทำการมาแล้วกว่า 30 ปี มีพนักงานทุกสายและทุกระดับทางด้าน IT ที่ได้ร่วมงานกับลูกค้าองค์กรใหญ่ที่มีชื่อเสียงและบริษัทข้ามชาติมากมาย

Source: www.disaster.go.th/ and www.thaihealth.or.th/

Related Articles

แนวทางในการจดจำ สิ่งที่คุณเรียนรู้เกี่ยวกับไอที

สำหรับคนไอที จำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ บทความนี้ได้รวบรวมวิธีจดจำสิ่งที่คุณเรียนรู้ กับ แนวทางในการจดจำสิ่งที่คุณเรียนรู้เกี่ยวกับไอที

enen