
สำหรับคนไอที แน่นอนว่าต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ อยู่เสมอ บางครั้งดู Tutorial หลาย ๆ ครั้ง แต่พอถึงเวลาสร้างสิ่งใหม่กลับเริ่มไม่ถูก ความจริงแล้วปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ความเก่ง แต่เป็นการขาดระบบการเรียนรู้ที่ดี โดยเฉพาะในสาย Software Development ที่ต้องการกลยุทธ์การเรียนรู้มากกว่าการรู้แค่เครื่องมือ มาเรียนรู้วิธีสร้างระบบเรียนรู้ที่จะช่วยให้คุณพัฒนาตัวเองได้จริง ๆ กับ 3 ขั้นตอน เปลี่ยนวิธีเรียนรู้ สำหรับคนไอที โดย Brian Jenney, Full Stack Developer
คนส่วนใหญ่ จริง ๆ แล้วไม่รู้วิธีการเรียนรู้ มักดู Tutorial, YouTube หรือ คัดลอก Code แล้วก็สงสัยว่าทำไมถึงรู้สึกสับสนทันทีที่ต้องการสร้างอะไรใหม่ ๆ ขึ้นมาเอง ซึ่งปัญหาไม่ใช่เพราะไม่เก่ง แต่เป็นเพราะไม่มีระบบในการเรียนรู้ต่างหาก
ในวงการอย่าง Software Development ที่เครื่องมือต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงแทบทุกเดือน แต่พื้นฐานกลับต้องใช้เวลาหลายปีจนกว่าจะเชี่ยวชาญ ดังนั้นการมี “กลยุทธ์ในการเรียนรู้” จึงเป็นสิ่งสำคัญกว่าการรู้เพียงแค่เทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่ใช้อยู่
แต่คนที่เพิ่งเริ่มเป็น Developer ส่วนใหญ่กลับไม่มีระบบการเรียนรู้ที่ดี โดยพวกเขามักพึ่งเครื่องมืออย่าง ChatGPT, Cursor หรือคำแนะนำตามกระแสจาก Influencer แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้แย่ ถ้าใช้อย่างพอดี แต่ถ้าคุณข้ามขั้นตอนของการเรียนรู้จริง ๆ อย่างการลองผิดลองถูก การ Debug การสร้างความเข้าใจด้วยตัวเอง คุณจะไม่มีทางพัฒนา ซึ่งคุณอาจดูเหมือนก้าวหน้า แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ไปไกลเลย ซึ่งคุณ Brian ไม่ได้ต่อต้าน AI เพราะเขาเองก็ใช้มันทุกวัน แต่ถ้าคุณอยากเก่งจริง ๆ แค่ใช้ทางลัดมันไม่พอ ดังนั้นคุณต้องมีระบบไปใช้เพื่อการเรียนรู้ มาดูกันเลย!
ขั้นตอนที่ 1: Protégé Effect
“ถ้าคุณอธิบายมันไม่ได้ แสดงว่าคุณยังไม่เข้าใจมันจริง ๆ”
คุณ Brian จำได้ว่าตอนเรียน JavaScript เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เขาสงสัยว่าตัวเองจะจำแนวคิดพวกนี้ทั้งหมดได้ยังไง โดยคิดว่า “วันหนึ่งคนจะจ่ายเงินให้กับความรู้นี้” ดังนั้นเขาจึงอ่านหนังสือ คัดลอก Code ตามที่คุณครูสอน แต่พอวางหนังสือลง เขากลับไม่รู้จะทำอะไรต่อเลย แต่มีสิ่งหนึ่งที่เขาเปลี่ยนเพียงนิดเดียว แล้วให้ผลลัพธ์มหาศาล คือ
ให้ลองเขียนออกมาว่า “คุณเข้าใจว่า Code นี้ทำอะไร” ด้วยคำพูดของตัวเอง
คุณ Brian เลิกใช้คำศัพท์วิชาการ หรือคำแบบเท่ ๆ ดังนั้น แทนที่จะเขียนตามตำรา เขาเขียนออกมาตามที่เขา “เข้าใจ” จริง ๆ ว่า Code กำลังทำอะไร และคาดหวังว่า Output จะออกมาเป็นยังไง ให้ลองเขียนแบบง่ายมาก ๆ ง่ายจนทำให้เขาอายได้เลย ถ้ามีใครมาเห็นสิ่งที่เขาจดไว้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว นี่ไม่ใช่แค่เคล็ดลับธรรมดา แต่มันคือหลักการทางวิทยาศาสตร์เลยแหละ
นักจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า “Protégé Effect” หมายถึง เราจะเรียนรู้ได้ดีขึ้นเมื่อเราต้อง “สอน” หรือ “อธิบาย” แนวคิดให้คนอื่นเข้าใจ ซึ่งมีงานวิจัยที่แสดงว่า แค่การเตรียมตัวเพื่อจะสอน ก็ทำให้เราเข้าใจเนื้อหานั้นลึกซึ้งขึ้นแล้ว ดังนั้น ก่อนจะไปสอนคนอื่น ให้สอนตัวเองก่อน โดยการทำให้สิ่งที่ “เป็นนามธรรม” กลายเป็นสิ่งที่ “เข้าใจได้ง่ายและชัดเจน”
ลองจับคู่ “แนวคิดใหม่ ๆ” กับ “แบบจำลองทางความคิดที่คุ้นเคย”
เช่น เวลาคุณนึกถึง JavaScript Function แล้วคุณนึกถึงอะไร? ซึ่งสำหรับคุณ Brian เขานึกถึง “ระเบิด” มันนอนนิ่งอยู่เฉย ๆ จนกว่าจะถูกเรียกใช้งาน แล้วมันก็ “ระเบิด” (ทำงาน) แต่อันนี้คือจิตนาการของเขานะ คุณอาจจะคิดในแบบของคุณ
แต่สิ่งสำคัญคือ: หาตัวอย่างมาเปรียบเทียบหรือภาพในหัวที่คุณเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้สิ่งที่เรียน “ติดอยู่ในหัว” แบบไม่ทำให้คุณลืมง่าย แม้มันจะแปลกจนคุณไม่กล้าพูดให้ใครฟังก็ตาม 555+
ขั้นตอนที่ 2: คุณเป็นแค่มนุษย์ จงรู้จักขีดจำกัดของตัวเอง
คุณ Brian จำได้ว่าครั้งหนึ่งตอนเขาเป็นที่ปรึกษาให้นักเรียน สำหรับหลักสูตร Coding Bootcampในช่วงปี 2010 มีนักเรียนคนหนึ่งที่ตั้งใจมาก มักมาเรียนก่อนเวลาและอยู่จนเลิกเรียน แต่เขายังเขียนคำสั่ง for loop ได้ไม่ดีเลย
ดังนั้น คุณ Brian จึงสงสัยว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ได้ เขาจึงถามนักเรียนว่าเรียนยังไง และนักเรียนตอบกลับอย่างมั่นใจว่า: “ผมไม่สามารถเรียนในวันธรรมดาได้ เพราะต้องทำงาน 2 งาน จึงเรียนอย่างหนักในวันเสาร์ – อาทิตย์ วันละ 10 – 12 ชั่วโมง” คุณ Brian แทบจะอ้าปากค้าง และไม่แปลกใจเลยที่นักเรียนคนนี้ไม่ค่อยพัฒนา
การทุ่มเทเรียนหนัก เมื่อเวลาผ่านไปนานเกิน แน่นอนว่า สมองจะเริ่มเหนื่อยและประสิทธิภาพในการเรียนรู้จะลด
“นักวิทยาศาสตร์บอกว่าขีดจำกัดนั้นอยู่ที่ ประมาณ 90 นาที”
การเว้นระยะเวลาระหว่างการเรียน ช่วยกระตุ้นให้สมอง “ออกกำลังกาย” กล้ามเนื้อความจำ และช่วยให้สิ่งที่ได้เรียนถูกเก็บไว้ในความจำระยะยาว แทนที่จะอยู่แค่ในความจำระยะสั้น จงจำไว้ว่าสมองของเราไม่ใช่คอมพิวเตอร์
ขั้นตอนที่ 3: คำคมที่เป็นจริงกว่าที่คุณคิด
“Whether you think you can, or you think you can’t, you’re right. – Henry Ford”
ฟังดูเหมือนเป็นคำคมเชย ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยาเรียกสิ่งนี้ว่า Self-efficacy หมายถึงความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง ที่จะประสบความสำเร็จ
คนที่เชื่อว่าตัวเองเรียนรู้ได้ มีแนวโน้มจะพยายามต่อ แม้มันจะยาก เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่แค่คำพูดสวย ๆ เกี่ยวกับเรื่องทัศนคติ ความเชื่อของคุณเกี่ยวกับความสามารถของตัวเอง มีผลโดยตรงต่อผลลัพธ์ในชีวิต
คุณอาจคิดว่าคุณ “ไม่ฉลาด”
คุณไม่เคยเก่งคณิตศาสตร์
คุณเชื่อว่า “คนเก่งเกิดมาพร้อมพรสวรรค์”
สมมติว่าทั้งหมดนั้นจริง แล้วไงต่อ?
คุณจะยอมรับไปเลยไหมว่า คุณไม่มีทางเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ หรือพัฒนาชีวิตได้อีก?
ขอพูดตามตรงเลยว่า: ทุกคนเริ่มต้นจากจุดที่ต่างกัน และความเร็วในการเรียนรู้ของคุณก็จะไม่เหมือนกับคนอื่น ดังนั้น สิ่งที่คุณควรทำคือ พยายามเปรียบเทียบตัวเองกับตัวเองในอดีต ไม่ใช่กับคนอื่น เพราะเป้าหมายคือการก้าวหน้าในแบบของคุณเอง ไม่ใช่การวิ่งแข่งกับใคร
คุณสามารถควบคุม นิสัยและความสม่ำเสมอของตัวเอง ในการเรียนรู้ได้ แต่คุณควบคุม “ผลลัพธ์” ไม่ได้ แล้วจะพัฒนาทัศนคติแบบนี้ได้อย่างไร? ดังนั้นคุณควรมี กลยุทธ์ง่าย ๆ และใช้ได้จริง เพื่อสร้างทัศนคติที่เชื่อว่า “คนเราพัฒนาได้ถ้าเราพยายาม”
มาลองพิสูจน์ด้วยตัวคุณเองดู
- อัดวิดีโอตัวเองตอนพยายามอธิบายเรื่องยาก ๆ อย่าง Closure, Recursion และ Inheritance
- เขียนบันทึกเรื่องที่คุณรู้สึกว่ายาก
- ลองทำ “สมุดบันทึกความสำเร็จ” โดยบันทึกชัยชนะเล็ก ๆ เช่น ทำ LeetCode ข้อแรกได้, ผ่านการสมัครงานครั้งแรก หรือแก้ Bug ยาก ๆ ได้สำเร็จ
เพราะเมื่อเสียงในหัวของคุณเริ่มดังขึ้น พร้อมกับคำพูดดูถูกว่า “นี่ไม่ใช่ทางของคุณหรอก” ให้เอาหลักฐานเหล่านี้กลับมาอ่านให้เจ้าตัวร้ายในหัวฟังซะ แล้วสักวันหนึ่ง เสียงนั้นจะค่อย ๆ เงียบลง และอีกอย่างหนึ่ง ให้ลอง “ตรวจสอบ” เสียงในหัวคุณดูบ้าง บางทีมันอาจไม่จำเป็นต้องโหดร้ายขนาดนั้นก็ได้ แม้เราจะไม่รู้จักคุณ แต่เราเชื่อในตัวคุณนะ และหวังว่าทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะช่วยคุณได้จริง ๆ
และทั้งหมดนี้ก็คือ 3 ขั้นตอน เปลี่ยนวิธีเรียนรู้ สำหรับคนไอที
เมื่อ หางาน IT ให้ ISM Technology Recruitment เป็นอีกหนึ่งตัวช่วย เพื่อให้คุณได้ “ชีวิตการทำงานในแบบที่คุณต้องการ” เพียงส่ง Resume มาที่นี่
ISM เชี่ยวชาญในธุรกิจ IT Recruitment & IT Outsourcing โดยเฉพาะ ได้เปิดทำการมาแล้วกว่า 30 ปี มีพนักงานทุกสายและทุกระดับทางด้าน IT ที่ได้ร่วมงานกับลูกค้าองค์กรใหญ่ที่มีชื่อเสียงและบริษัทข้ามชาติมากมาย
Source: https://brianjenney.medium.com/